ReadyPlanet.com


ลูกอายุ 4 ขวบ ชอบตีแม่


ลูกชายอายุ 4 ขวบค่ะ เวลาโดนดุ หรือบางทีโดนคุณแม่ตีเวลาทำผิด จะมีปฏิกิริยาตอบโต้โดยตีแม่กลับทันที บอกลูกว่าที่แม่ตีหนูเพราะหนูทำผิด แล้วเคยถามเหตุผลเขาว่าทำไมหนูถึงชอบตีแม่ เขาตอบกลับมาว่าก็แม่ชอบตีหนู ฟังแล้วก็อึ้งไปเลยค่ะ จะแก้พฤติกรรมนี้อย่างไรดีคะ


ผู้ตั้งกระทู้ ตุณแม่ :: วันที่ลงประกาศ 2011-12-11 20:57:25


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3359399)

ลูกสาวเป็นเหมือนกัน อาจจะเป็นอย่างที่คุณครูที่โรงเรียนลูกเคยบอกว่าที่โรงเรียนจะไม่ใช้วิธีการตีเพื่อลงโทษ แต่จะใช้วิธีการ time out เค้าใช้กับเด็กเล็กๆ ตอนลูกเราอยู่ Pre-k และช่วงอนุบาล คือเมื่อเด็กแสดงอาการไม่น่ารัก งอแง อารมณ์เสีย เค้าจะพาลูกเราแยกออกไปนั่งตรงมุมใดมุมหนึ่ง แล้วบอกเป็นเก้าอี้วิเศษที่จัดไว้เป็นพิเศษสำหรับเด็กที่น่ารัก รอจนกว่าเค้าจะสงบแล้วพาเข้ากลุ่มเพื่อนเหมือนเดิม แต่ลูกเราเวลาดื้อมากๆ ที่บ้านก็อดตีไม่ได้ อยากจะทำเหมือนที่โรงเรียนเหมือนกัน คิดว่าคงเป็นเพราะเด็กเล็กๆ ยังแยกไม่ออก เห็นพอเราเมื่อแสดงอารมณ์โกรธก็เสียงดัง แล้วก็ตี เด็กพอไม่พอใจเค้าก็เลยเลียนแบบผู้ใหญ่โดยไม่เข้าใจหรอกว่าเราตีเพราะเค้าทำผิด ถึงแม้เราจะพูดอธิบายทีหลังว่าแม่ตีเพราะอะไร เพราะเด็กไม่เคยมองว่าสิ่งที่เค้าทำมันผิด มันก็คงจริง ทำให้บางครั้งลูกเราเหมือนเด็กก้าวร้าว เพราะเค้าเลียนแบบเราตอนเราก้าวร้าวใส่เค้า ก็เลยพยายามควบคุมตัวเอง ควบคุมอารมณ์ เพราะเริ่มรู้สึกว่า อะไรที่เราพูด ลูกก็จะพูด อะไรที่เราแสดงออก ลูกก็แสดงออกเหมือนเราเลย เพราะฉะนั้นถ้าลูกไม่น่ารักก็อย่าเพิ่งไปมองหาเหตุผลที่ไหน ลองมองที่ตัวเราก่อนได้เลยคะ จริงๆ

ผู้แสดงความคิดเห็น แม่น้องพีส วันที่ตอบ 2012-02-20 11:33:47


ความคิดเห็นที่ 2 (3359414)

ยาวหน่อยแต่ก็มีประโยชน์ดีนะคะหากคุณแม่ท่านไหนจะลองนำไปใช้กับลูกๆ

มารู้จักวิธี Time Out กันค่ะ

ตั้งแต่ปลายขวบปีแรกจนถึงวัย 5-6 ขวบ เด็กๆ จะมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว ความเป็นตัวของตัวเอง ความคิดจินตนาการ และการเรียนรู้ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็จะถือตนเองเป็นใหญ่ ทั้งไม่มีความสามารถในการควบคุมตนเองได้ดีพอ อาการประเภทดื้อ ต่อต้าน ก้าวร้าว เอาแต่ใจ ขว้างปาของ แย่งของเล่น แกล้งน้อง ฯลฯ ซึ่งแม้เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้ปกติตามวัย แต่ก็สามารถสร้างความปวดหัวให้แก่พ่อแม่ได้ไม่น้อยนะครับ

และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือแก้ไขอย่างเหมาะสมแต่เบื้องต้นด้วย เพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาที่รุนแรงยากต่อการแก้ไขภายหลัง โดยหลักสำคัญคือต้องช่วยให้เด็กๆ รู้จักและสามารถควบคุมตนเองได้นั่นเองครับ

การเอาชนะหรือทะเลาะ...ไม่ได้ช่วย
การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมจะต้องเป็นไปด้วยความสัมพันธ์ที่ดีของเด็กและพ่อแม่ครับ คือพ่อแม่ต้องแสดงให้เด็กเห็นว่าเขาได้รับความเข้าใจและเห็นคุณค่า และขณะที่เขาควบคุมตนเองไม่ได้พ่อแม่ก็ต้องช่วยควบคุมให้อย่างเอาจริงและสงบ โดยไม่ใช้วิธีรุนแรงที่อาจทำให้เด็กยิ่งต่อต้านและเอาชนะ ซึ่งจะยิ่งทำให้เด็กเลียนแบบความรุนแรง และการควบคุมพฤติกรรมก็จะเป็นไปได้ยากขึ้น

เคล็ดลับอยู่ที่ Time-out
วิธีหนึ่งที่ได้ผลดี คือ time-out หรือ การแยกเด็กออกจากสิ่งกระตุ้นหรือความสนใจจากสิ่งรอบข้างชั่วคราว เพื่อให้เขาสงบและควบคุมตนเองได้ เช่น เมื่อเด็ก 3 ขวบ กำลังโกรธและจะขว้างปาของ พ่อแม่อาจจับเด็กไปนั่งที่เก้าอี้มุมห้องแล้วบอกว่า “ตอนนี้หนูกำลังโกรธ หนูต้องมานั่งตรงนี้ให้ใจเย็นก่อน” แล้วคุมให้เด็กนั่งเป็นเวลา 2-3 นาที จนสงบจึงปล่อยให้เด็กกลับไปทำกิจกรรมอย่างอื่นต่อ

ขณะที่เด็กถูกแยกอยู่ใน time-out บรรยากาศจะต้องสงบและไม่มีสิ่งกระตุ้นทั้งในทางบวกและทางลบ นั่นคือจะต้องไม่มีของเล่นให้เล่นหรือมีโทรทัศน์ให้ดู และจะต้องไม่พูดบ่นหรือสอนเด็กในขณะนั้น พ่อแม่เพียงอยู่ใกล้ๆ ในสายตาโดยพยายามไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งสถานที่สำหรับ Time-out อาจเป็นเก้าอี้ตรงมุมห้อง ทางเดินที่ไม่มีคนรบกวน หรือห้องที่เปิดประตูไว้ ที่สำคัญก็คือ จะต้องไม่เป็นการขังเด็กเป็นอันขาด

การใช้ time-out ที่ได้ผลดีจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอและทำทันทีที่เห็นเด็กมีพฤติกรรมที่ต้องการแก้ไข เช่น เมื่อเด็กทำลายข้าวของเวลาโกรธก็ต้องจับเด็กให้ไปนั่งให้สงบทันที และจะดียิ่งกว่าถ้าให้เด็กอยู่ใน time-out ตั้งแต่เด็กเริ่มโกรธแล้วมีทีท่าว่าจะควบคุมตนเองไม่ได้ ซึ่งจะช่วยให้เด็กสงบลง ง่ายกว่ารอจนกระทั่งเด็กอาละวาดเต็มที่ บางครั้งอาจใช้วิธีพูดหรือนับ 1-3 เตือนเด็กให้เด็กหยุดตนเองก่อนที่จะต้องถูกให้อยู่ใน time-out อย่างไรก็ตามไม่ควรใช้ time-out มาขู่เด็ก หรือพูดเตือนบ่อยเกินไ ป


Time-out ไม่ใช่การลงโทษ
Time-out ใช้เพื่อช่วยให้เด็กฝึกการควบคุมตนเอง ดังนั้น จึงใช้ได้ดีกับปัญหาพฤติกรรมใดๆ ที่เด็กไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เช่น เมื่อเด็กเล่นรุนแรงแล้วห้ามไม่หยุด เด็กทะเลาะแล้วลงมือตีกัน เด็กลุกเดินหรือก่อกวนในห้องเรียน หรือเมื่อถูกขัดใจแล้วอาละวาด วัตถุประสงค์คือเพื่อให้เด็กสงบ ไม่ถูกเร้า ใจเย็นลง และหยุดตนเองได้ในที่สุด

Time-out ไม่ใช่การลงโทษและไม่ใช่การให้เด็กชดใช้ความผิดนะครับ และไม่ควรใช้เมื่อพฤติกรรมที่เด็กไม่ควบคุมตนเองนั้นเกิดจากความกลัว เช่น เมื่อเด็กร้องไห้ไม่ยอมไปโรงเรียน นอกจากนี้ก็ไม่ควรใช้เมื่อเด็กไม่ทำตามพ่อแม่ ในสิ่งที่เด็กยังไม่พร้อมหรือยากเกินไปสำหรับเขา หรือเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรปล่อยให้เด็กรับผิดชอบเองโดยไม่สมควรบังคับ เช่น เมื่อเด็กไม่ยอมกิน เป็นต้น

Time-out ต้องไม่นาน
เวลาที่เหมาะในการให้เด็กอยู่ใน time-out ควรอยู่ระหว่าง 2-5 นาที หรืออาจใช้หลักคร่าวๆ ว่า เท่ากับ 1 นาทีต่ออายุที่เป็นปี เช่น 3 ขวบก็ 3 นาที แต่ไม่ควรเกิน 5 นาทีสำหรับทุกอายุ เพราะถ้านานเกินไปเด็กจะเริ่มรู้สึกต่อต้าน วัตถุประสงค์ของ time out ไม่ใช่เพื่อการลงโทษ แต่เพื่อให้เด็กสงบและควบคุมตนเองได้ดีขึ้น ดังนั้น เวลาที่ใช้จึงควรกำหนดให้คงที่และไม่ควรเพิ่มเวลาตามความผิดที่ทำ ถ้าเด็กไม่ยอมนั่งสงบก็ไม่ควรเพิ่มเวลาให้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่บอกเด็กว่าจะจับเวลาเมื่อเขาเริ่มสงบ การทำเช่นนี้จะทำให้เห็นว่าการที่จะเลิกจาก time-out ได้เมื่อไรนั้นจะเป็นความรับผิดชอบของตัวเขาเอง


ให้เด็กรู้เหตุผลในการ Time-out
เมื่อครบเวลาควรทบทวนกับเด็กสั้นๆ ว่าเขาต้องอยู่ใน time-out เพราะเหตุใด เช่น “พ่อให้หนูนั่งสงบตรงนี้เพราะหนูขว้างของ คราวหลังถ้าหนูโกรธก็บอกได้นะไม่ต้องขว้างของ ตอนนี้หนูใจเย็นแล้วไปเล่นต่อได้” แล้วให้เด็กไปมีกิจกรรมอื่นๆ ตามปกติ ควรหลีกเลี่ยงการสอนที่ยาวหรือการพูดตำหนิติเตียน


ถ้าลูกไม่ยอมอยู่ใน Time-out
ถ้าเด็กไม่ยอมนั่งสงบ พ่อแม่ควรจับตัวเด็กให้นั่งบนเก้าอี้ที่กำหนดไว้ โดยจับทางข้างหลังเก้าอี้แล้วรวบแขน 2 ข้างของเด็กกอดไว้ เมื่อเด็กเริ่มสงบจึงปล่อยแขนแล้วเริ่มจับเวลา เด็กอาจต่อต้านในระยะแรก แต่ถ้าปฏิบัติอย่างเอาจริงและสม่ำเสมอ เด็กก็จะยอมตามในที่สุด พ่อแม่ควรพูดชมเด็กเมื่อเขายอมนั่งและสงบลงได้

ในบางกรณีเด็กอาจจะแสดงท่าทีว่าไม่เดือดร้อนเมื่อพ่อแม่ให้อยู่ใน time-out เช่น อาจแสดงสีหน้ายั่วยวน หรือพูดท้าทายว่าไม่สนใจ นั่นไม่ได้แปลว่าเด็กไม่เดือดร้อนจริงและการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอของพ่อแม่ย่อมได้ผล


เริ่มใช้ Time-out ได้ตั้งแต่อายุเท่าใด
Time-out สามารถใช้กับเด็กได้ตั้งแต่ปลายขวบปีแรก หรือประมาณ 9-10 เดือนเป็นต้นไป และสามารถใช้ได้ผลไปจนถึงเด็กวัยเรียน การใช้ time-out ตั้งแต่เล็กๆ และใช้อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เด็กยอมรับวีการนี้ได้ดี และสามารถหลีกเลี่ยงวิธีการลงโทษอย่างรุนแรงในการจัดการกับปัญหาพฤติกรรมได้ เด็กส่วนใหญ่จะชอบ time-out มากกว่าการถูกลงโทษ

Time-out จะได้ผลต่อเมื่อมี time-in ด้วย
การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของเด็กจะไม่ได้ผลเลย ถ้ามัวแต่เพ่งเล็งที่พฤติกรรมที่ไม่ดีเพียงอย่างเดียว โดยไม่ให้ความสนใจพฤติกรรมที่ดี การไม่มีเวลาให้กับลูกในภาวะปกติ เช่น ขณะที่เขาเล่นดีๆ อย่างสงบ แต่จะตอบสนองต่อเมื่อลูกสร้างปัญหา เมื่อเขาร้องโวยวาย ขว้างปาของหรือทะเลาะกันเท่านั้น ปัญหาพฤติกรรมเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ

พ่อแม่จึงต้องพยายามให้ความสนใจเด็กอย่างต่อเนื่องในเวลาปกติที่อาจเรียกว่า time-in ซึ่งอาจทำให้ด้วยการอยู่ใกล้ๆ เด็ก แตะตัว โอบไหล่ พยักหน้า หรือยิ้มให้เป็นระยะๆ เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องสนใจอยู่ตลอดเวลา แต่อาจเป็นเพียงช่วงสั้นๆ บ่อยๆ เด็กยิ่งเล็กยิ่งต้องการความสนใจจากพ่อแม่มาก เมื่อเขาเติบโตขึ้นก็ค่อยๆ ปล่อยให้มีโอกาสเล่นด้วยตนเองตามลำพัง แต่ถึงแม้จะเติบโตขึ้นเท่าไร เด็กก็ยังคงต้องการการพูดชม และการแสดงการยอมรับเป็นระยะๆ ว่าการปฏิบัติของเขานั้นเป็นที่พอใจของพ่อแม่ และเมื่อเขาก็มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ พ่อแม่ก็ควรช่วยให้เขาพยายามควบคุมตนเอง การทำเช่นนี้จะช่วยให้เด็กมีความมั่นใจในความรักของพ่อแม่และในคุณค่าของตนเอง ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตอย่างมีสุขภาพจิตที่ดีต่อไป
 

ผู้แสดงความคิดเห็น แม่น้องพีส วันที่ตอบ 2012-02-20 13:02:39


ความคิดเห็นที่ 3 (3405864)

แต่อ่านเพลิน

ผู้แสดงความคิดเห็น วีรันดา วันที่ตอบ 2013-03-09 17:22:32


ความคิดเห็นที่ 4 (3421521)

ขอบคุณค่ะ ที่ทำให้เข้าใจ วิธีการนี้มากขึ้น คงต้องนำไปใช้กับลูกชายบ้างแล้วละ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น แม่น้องข้าวปั้น วันที่ตอบ 2013-09-30 14:36:28


ความคิดเห็นที่ 5 (4053317)

 ลูกก็เป็นเด็กเกเรเหมือนกันคะทำยังไงให้หายคะ

ผู้แสดงความคิดเห็น ชิสุจัง วันที่ตอบ 2017-06-14 22:47:16


ความคิดเห็นที่ 6 (4053481)

ลูกชายอายุ 5ขวบ7เดือนลูกชายนิสัยเปลี่ยนไปเวลาอยู่ที่โรงเรียน ครูบอกว่าไม่เคยเห็นลูกชายทำหรือแกล้องเพื่อนมาก่อนเลย แต่ทำมัยตอนนี้ถึงทำเพื่อน เป็นเพราะอะไรแม่รู้สึกกังวลมากกับเรื่องที่ลูกเกเร ตอนนี้ลูกอยู่อนุบาล3 เมื่อก่อนไม่เคยมีประวัติการทำเพื่อนมาก่อนเลย เลยไม่แน่ใจว่าเกิดเพราะอะไร แต่จะถามลูกชายดีๆทุกครั้งว่าไปทำและแกล้งเพื่อนทำมัย ลูกชายก็มีอาการเสียใจและร้องให้ จากที่เมื่อก่อนลูกไม่เคยมีนิสัยแบบนี้มาก่อนเลย แต่จะบอกลูกเสมอว่าไม่ทำและแกล้งคนอื่น นะครับแม่อยากได้ลูกชายของแม่คนเดิมกลับมา คนที่น่ารัก ร่าเริง หัวเราะ และไม่เกเร ไม่ทำเพื่อนๆ ขอวิธีแก้หน่อยค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น Cherry_burry@yahoo.com วันที่ตอบ 2017-06-15 22:21:11


ความคิดเห็นที่ 7 (4054178)

เป็นการแนะนำที่ดีมากๆเลยค่ะ มีประโยชน์มากๆ ขอบคุณสำหรับคำแนะนำที่ดีนะคะ😊. จะนำไปใช้กับลูกๆบ้าง 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น แม่น้องริวจัง วันที่ตอบ 2017-06-21 22:21:44


ความคิดเห็นที่ 8 (4094793)

 หนุมีน้องชายอายุ 4 ขวบคะ เพิ่งขึ้นอนุบาลเค้ามีนิสัยก้าวราวและโมโหรุนแรงเวลาไม่ได้ดั่งใจ เวลาร้องไห้จะโวยวายร้องเสียงดังมาก และร้องนาน เมื่อก่อนเค้าติดโทรศัพท์มากเล่นเกมมายคราฟและดูพวกยุทูปพวกเเคสเกม เวลาพ่อแม่ดุหรือทำโทษเค้าจะชอบขึ้นห้องไปอยู่คนเดียวคะ หนุคิดว่าการที่น้องเป็นแบบนี้ส่วนหนึงมาจากการเล่นเกมและดูอะไรที่มันรุนแรง ตอนนี้เค้าทุบโทรศัพท์พังไม่ได้เล่นมาหลายเดือน เค้าก็วาดรูป ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านเช่นปั่นจักรยานหรือวิ่ง แต่พักหลังๆนี้เค้าเริ่มเป็นอีก โมโหร้าย อาละวาด ทำลายข้าวของเราตีเค้าเค้าก็จะตีเรากลับ เรานิ่งใส่ เค้าก็พยายามจะมีตีเราหรือหาของมาขว้างปาใส่เราไม่หยุด หนุไม่อยากตีเค้าเพราะเค้าเริ่มจะมีอคติกับหนุ  ไม่อยากอยู่ด้วยเพราะหนุไม่ค่อยตามใจ ขอคำแนะนำหน่อยคะ อาจจะยาวนิดนึงนะคะ (หนูกับน้องอายุห่างกัน16ปี) แม่มีน้องตอนอายุเยอะมีส่วนด้วยไหมคะ

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำล่วงหน้าคะ🙏🏻

ผู้แสดงความคิดเห็น พี่สาว วันที่ตอบ 2018-05-16 18:10:34



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



line id ของเรา @beemedia นะครับ (อย่าลืมใส่@นะครับ) หรือ www.facebook/beemedia